ปฏิทินโหราศาสตร์ไทย สุริยยาตร์

พ.ศ./ค.ศ.
เนื่องจากการหาฤกษ์มงคลในการสำคัญมีกฎเกณฑ์วิธี มีข้ออนุโลมข้อยกเว้น ข้อพิจารณาอีกมากมาย บางฤกษ์ใช้การหนึ่งได้แต่ใช้กับอีกการหนึ่งไม่ได้ บางฤกษ์อาจต้องผูกรวมชะตาผู้ใช้ฤกษ์รวมกัน ดังนั้นฤกษ์ในการสำคัญท่านควรปรึกษา และให้ฤกษ์โดยโหรจารย์ผู้เชี่ยวชาญในการให้ฤกษ์ ทั้งนี้รายละเอียดฤกษ์ด้านล่าง แสดงเป็นเบื้องต้นเท่านั้น  ...  รายละเอียดฤกษ์

แนะนำ บริการให้ฤกษ์บุคคลตามหลักโหราศาสตร์ขั้นสูง ฤกษ์แต่งงาน ออกรถ ผ่าคลอด ลาสิกขา ยกเสาเอก เปิดร้าน บ้านใหม่ ฯลฯ ... รายละเอียด
อ่าน ใช้งาน ปฏิทิน13 เมษายน พ.ศ.2560 แล้ว เขียนรีวิว และคลิก Like , Share ให้ด้วยนะครับ :)   4.99 จาก 2,055 รีวิว
หมายเหตุ ปฏิทินโหราศาสตร์ไทย สุริยยาตร์ พ.ศ.2560/ค.ศ.2017
ปฏิทินโหราศาสตร์ไทย สุริยยาตร์ ชุดนี้ คำนวณสมผุสดาวตามคัมภีร์สุริยยาตร์และคัมภีร์มานัตต์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2300 - 2700 และเนื่องจากความแตกต่างกันของปฏิทินโหราศาสตร์ไทย แต่ละชุดหรือแต่ละเล่ม เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ทราบถึงที่มาที่ไป รูปแบบ กฎเกณฑ์ และข้อกำหนดของปฏิทิน สรุปเป็นข้อ ๆ ดังนี้

[1] ปฏิทินโหราศาสตร์ไทยชุดนี้คำนวณสมผุสพระเคราะห์ ตามคัมภีร์สุริยยาตร์ และคัมภีร์มานัตต์ ตั้งจุดคำนวณ ณ เวลา 24:00น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงเทพฯ (UTC+06:42) ซึ่งเป็นเวลามาตรฐานไทยแบบเดิม ก่อนมีการปรับจุดอ้างอิงเวลา จาก จ.กรุงเทพฯ เป็น จ.อุบลราชธานี ใช้เส้นลองจิจูด 105° ตะวันออก เป็นจุดอ้างอิง เวลามาตรฐานประเทศไทย ปัจจุบัน (UTC+07:00) เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน พ.ศ.2463

เหตุเพราะมีการเปลี่ยนแปลงจุดอ้างอิงเวลามาตรฐานใหม่ แต่เกณฑ์และผลการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์ อ้างอิงเวลาตามพิกัดเวลาท้องถิ่นกรุงเทพฯ (UTC+06:42) แบบดั้งเดิม ไม่ได้ปรับเปลี่ยนเกณฑ์หรือสูตรคำนวณในคัมภีร์ฯ ดังนั้นในการใช้งานปฏิทินโหราศาสตร์ไทย สุริยยาตร์ ต้องปรับฐานเวลาก่อน ดังนี้

ปฏิทินก่อน 1 เมษายน พ.ศ.2463 ยังใช้เวลาท้องถิ่นกรุงเทพฯ (UTC+06:42) เวลาจันทร์ยก เวลาฤกษ์ ดิถี หรืออื่น ๆ แสดงเวลา (UTC+06:42) ทั้งหมด , ถ้าปรับเทียบเวลามาตรฐานปัจจุบัน (UTC+07:00) ให้บวกเพิ่มเวลา 18 นาที (เวลา 18 นาที เป็นส่วนต่างเวลา ของ จ.กรุงเทพฯ และ จ.อุบลราชธานี คำนวณตามลองจิจูด) , เวลาทางดาราศาสตร์ เวลาดวงอาทิตย์ขึ้น ดวงจันทร์ฯ แสดงเวลามาตรฐานปัจจุบัน (UTC+07:00) เทียบเวลาท้องถิ่นกรุงเทพฯ (UTC+06:42) ให้ลบออก 18 นาที , การวางลัคนาไม่ต้องปรับเวลา

ปฏิทินหลัง 1 เมษายน พ.ศ.2463 ซึ่งเริ่มใช้เวลามาตรฐานใหม่ เวลาจันทร์ยก เวลาฤกษ์ ดิถี หรืออื่น ๆ แสดงเวลาท้องถิ่นกรุงเทพฯ (UTC+06:42) ทั้งหมด ถ้าปรับเวลามาตรฐานปัจจุบัน (UTC+07:00) ให้บวกเพิ่มเวลา 18 นาที , การวางลัคนาบางแบบต้องปรับฐานเวลาตามคัมภีร์สุริยยาตร์ก่อน โดยตัดส่วนต่างเวลาท้องถิ่นออกจากเวลาเกิด คือ นำเวลาเกิด ลบด้วย 18 นาที ก่อน ผูกดวงชะตา

เวลาที่แสดงในปฏิทิน มีขีดเส้นประใต้เวลา เป็นเวลาท้องถิ่นกรุงเทพฯ (UTC+06:42) , ไม่มีเส้น เป็นเวลาปัจจุบัน (UTC+07:00)

[2] ช่วงเวลาย้ายราศี เวลาย้ายฤกษ์ดิถี ในปฏิทินโหราศาสตร์ไทย สุริยยาตร์ ชุดนี้ คำนวณราศี ฤกษ์ดิถี ทุกนาที ตั้งแต่ 00.00น.-24.00น. (1,440 นาที) ของแต่ละวัน นำสมผุสเปรียบเทียบนาทีต่อนาที เพื่อหาเวลานาที ย้ายราศี ย้ายฤกษ์ดิถี จริง , สอบทานผลคำนวณดาวย้ายราศี ย้ายฤกษ์ดิถี ละเอียดระดับวินาทีได้ใน จักรราศีวิภาค ลัคนาฤกษ์ ของปฏิทินวันนั้น ๆ หรือ ดูดวง โหราศาสตร์ไทย

[3] ดาวโคจรวิปริต/วิกลคติ มี 3 แบบ คือ พักร์ (พ.) ดาวโคจรถอยหลัง , มณฑ์ (ม.) ดาวโคจรช้ากว่าปรกติ เกิดช่วงก่อนและหลังพักร์ และ เสริต (ส.) ดาวโคจรเร็วกว่าปรกติ , ผลดาวโคจรวิปริตในปฏิทินโหรฯ ชุดนี้ การโคจรวิปริตพักร์ พิจารณาองศา ความเร็ว ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับวันก่อนหน้า ส่วน มณฑ์ และ เสริต พิจารณาเปรียบเทียบความเร็วการโคจรกับค่าความเร็วเฉลี่ยต่อวัน และเนื่องจากเกณฑ์คำนวณด้วยคัมภีร์สุริยยาตร์และคัมภีร์มานัตต์ ผลการโคจรวิปริตอาจไม่ต่อเนื่องในบางช่วงเวลา อาจพักร์ชั่วขณะ (อนุวักระ) อาจขาดช่วงในบางวันเวลา ซึ่งเป็นข้อจำกัดของคัมภีร์ฯ จึงปรับปรุงการแสดงผลใหม่ ให้แสดงการโคจรวิปริตแบบต่อเนื่องเพื่อเห็นภาพรวมการโคจร , ดวงอาทิตย์ และ ดวงจันทร์ โคจรปรกติเดินหน้าเสมอ ส่วน ราหูและเกตุ โคจรถอยหลัง (พักร์) เสมอ , หากใช้การโคจรวิปริต ดู กราฟดาว/ดาวย้ายราศี สุริยยาตร์ พ.ศ.2560 ประกอบ ว่าการโคจรวิปริตรอบนั้น ๆ อยู่ช่วงเริ่มต้นหรือใกล้สิ้นสุด เพื่อพิจารณาเลือกใช้ได้เหมาะสม

[4] กฎเกณฑ์การคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์ และคัมภีร์มานัตต์ จากตำราดังนี้ (1.) ประติทิน โหราศาสตร์ พ.ศ.2417-2479. หลวงอรรถวาทีธรรมประวรรต (อ.วิเชียร จันทร์หอม) , (2.) คัมภีร์โหราศาสตร์ไทยมาตรฐาน ฉบับสมบูรณ์. หลวงวิศาลดรุณกร (อ.อั้น สาริกบุตร) , (3.) คัมภีร์สุริยยาตรแลมานัตต์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้า อ.วรพล ไม้สน , (4.) ปฏิทินโหราศาสตร์ไทย พ.ศ.2504-2553. อ.ทองเจือ อ่างแก้ว ใช้สอบทานข้อมูลที่ได้จากการประมวลผล ซึ่งผลการคำนวณสมผุสตรงกัน อาจมีต่างกันเพราะตัดเศษลิปดาตอนท้าย , ปฏิทินโหรฯ ชุดนี้ในบางปีได้วางตากลไว้เพื่อตรวจสอบการละเมิดฯ , เกณฑ์คำนวณคัมภีร์สุริยยาตร์ฯ , ประกาศสงกรานต์ พ.ศ.2560

[5] การคำนวณตำแหน่งหรือสมผุสดาว ในระบบโหราศาสตร์แบ่งเป็น 2 ระบบหลัก คือ "นิรายนะ" (Sideral Zodiac / Fixed Zodiac) และ "สายนะ" (Tropical Zodiac / Movable Zodiac) ทั้ง 2 ระบบแตกต่างตรงจุดเริ่มราศีเมษ , เดิมทั้ง 2 ระบบใช้กลุ่มดาวแกะ เป็นจุดเริ่มต้นราศีเมษ 0° เหตุเนื่องจากแกนโลกที่หมุนเอียงและเหวี่ยง (Precession) ส่งผลให้จุดเมษหรือจุดวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) ซึ่งเดิมเคยอยู่ตรงกลุ่มดาวแกะ เคลื่อนที่ออกห่าง ส่งผลให้การสังเกตการณ์ ตำแหน่งดาวเทียบกับดาวฤกษ์ท้องฟ้าเปลี่ยนไป , แนวคิดระบบนิรายนะ นั้นอ้างอิงตำแหน่งดาวฤกษ์หรือกลุ่มดาวแกะแบบเดิม เป็นจุดเริ่มต้นราศีเมษ อาทิตย์ยกเข้าราศีประมาณวันที่ 13 - 17 ของแต่ละเดือน , ส่วนระบบสายนะ ใช้จุดเริ่มต้นราศีเมษ ตามจุดวสันตวิษุวัตที่เปลี่ยนไป ระบบสายนะ อาทิตย์ยกเข้าราศีประมาณวันที่ 21 - 22 ของแต่ละเดือน , ดังนั้นดาวดวงเดียวกันตำแหน่งเดียวกันบนฟ้า การอ่าน องศา ราศี ทั้ง 2 ระบบผลต่างกัน โดยองศาระยะห่างเท่ากับค่าอายนางศะ (Precession) ซึ่งปัจจุบันอายนางศะ (ลาหิรี) ประมาณ 24° และค่อยเพิ่มประมาณ 1 องศาทุก ๆ 72 ปี (ปีละประมาณ 50 พิลิปดา) , ปฏิทินโหราศาสตร์ นิรายนะวิธี ใช้ใน โหราศาสตร์ไทย โหราศาสตร์ตะวันออก พระเวท อินเดียส่วนระบบสายนะ ใช้ใน ระบบดาราศาสตร์ (Astronomy) โหราศาสตร์สากล (Traditional Astrology) โหราศาสตร์ตะวันตก โหราศาสตร์ยูเรเนียน (Uranian Astrology) เป็นต้น

ปฏิทินโหราศาสตร์ไทยที่นิยมใช้กัน มี 2 แบบ คือ (1) ปฏิทินโหราศาสตร์ไทย สุริยยาตร์ เป็นปฏิทินโหราศาสตร์ไทยแบบดั้งเดิม คำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์และคัมภีร์มานัตต์ (2) ปฏิทินโหราศาสตร์ไทย นิรายนะวิธี ลาหิรี เป็นปฏิทินโหราศาสตร์ไทย คำนวณตามระบบดาราศาสตร์สากล นิรายนะวิธี (Fixed Zodiac) ตัดอายนางศะ แบบลาหิรี , ทั้งนี้ชื่อเรียกวิธีคำนวณต่างกัน แต่โดยหลักการ ปฏิทินโหราศาสตร์ไทยสุริยยาตร์ จัดเป็นระบบนิรายนะ ใช้กลุ่มดาวแกะ เป็นจุดเริ่มต้นราศีเมษแบบเดียวกัน แต่หากดูตามชื่อเรียกอาจเข้าใจว่าเป็นคนละแบบ

[6] กฎเกณฑ์ปฏิทินจันทรคติไทย การนับปีนักษัตร ปีศักราช ข้อกำหนดต่าง ๆ ดู หมายเหตุปฏิทินจันทรคติ พ.ศ.2560