วิธีดูค่ำแรมจากดวงจันทร์
วิธีดูค่ำแรมจากดวงจันทร์เบื้องต้น บทความนี้จะพูดถึงวิธีดูค่ำแรมจากดวงจันทร์เบื้องต้น แบบจำง่าย ๆ นะครับ วิธีดูค่ำแรม หรือเฟสดวงจันทร์ ถ้าหากเข้าใจจำวงโคจร หรือระยะการโคจรของดวงจันทร์ในแต่ละวันได้ ก็จะทราบเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรม แต่ถ้าจำไม่ได้ มีวิธีดูดวงจันทร์ดังนี้
1. ดูกระต่าย
1.1 วิธีนี้ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า ในดวงจันทร์ส่วนไหนที่เป็นรูปกระต่าย (ดูรูปประกอบ) เนื่องจากมีหลายมุมมอง ผมใช้กระต่ายแบบที่ 1 เป็นหลักนะครับ ด้านบนจะเป็นหัวหรือหูกระต่าย ด้านล่างจะเป็นหางหรือขาครับ
1.2 สำหรับวิธีนี้ต้องท่องจำ สั้น ๆ ว่า "ขึ้นหูแรมหาง" หรือ "ขึ้นหัวแรมเท้า" ก็ได้ครับ
วิธีใช้ก็คือถ้ามองดวงจันทร์แล้วเห็น ด้าน "หูหรือหัว" ชัดแสดงว่าเป็น "ข้างขึ้น" ถ้าเห็น "เท้าขาหรือหาง" ชัดแสดงว่าเป็น "ข้างแรม" , การดูแบบนี้ จะดูได้ง่ายช่วง ขึ้น ๕ ค่ำ ถึงประมาณ แรม ๙ค่ำ เพราะเห็นหูหรือหางกระต่ายได้ชัดเจน ส่วนช่วงที่ดวงจันทร์เป็นเสี้ยวบาง ๆ จะดูหูหรือหางกระต่ายยากเว้นแต่ดูจนคุ้นเคยแล้ว ต้องใช้วิธีที่ 2
2. ดูทิศ
2.1 วิธีนี้ก่อนอื่นต้องรู้ทิศ เหนือใต้ ตะวันออก ตะวันตก ณ จุดที่สังเกตการณ์ก่อน ส่วนดูดวงจันทร์ว่าชี้ทิศอย่างไรดังรูป ให้ดูโค้งดวงจันทร์ข้างที่เต็ม หรือหันเข้าดวงอาทิตย์ เป็นลูกศรชี้ทิศ หรือจินตนาการว่าเสี้ยวดวงจันทร์เป็นคันธนูมีลูกศรชี้ทิศก็ได้ครับ (ดูรูปประกอบ)
2.2 เมื่อรู้ทิศ สำหรับวิธีนี้ต้องท่องจำ สั้น ๆ ว่า "ขึ้นตกแรมออก"
วิธีใช้ก็คือถ้ามองดวงจันทร์แล้วเห็น ด้านสว่าง หรือหัวลูกศรชี้ทาง "ทิศตะวันตก" หรือหันทางทิศตะวันตก แสดงว่าเป็น "ข้างขึ้น" ถ้าชี้ทาง "ทิศตะวันออก" แสดงว่าเป็นจันทร์ "ข้างแรม" วิธีนี้ช่วงใกล้ ๆ เพ็ญ หรือหลังเพ็ญจะดูยากนิดหนึ่งแต่ก็ดูได้ครับ อาจต้องดูจากเวลาดวงจันทร์ขึ้นว่าก่อนหรือหลังดวงอาทิตย์ตก หรือดูหูหรือหางกระต่ายตามวิธีข้างต้น
ในส่วนของค่ำแรม ตรงนี้ต้องดูเสี้ยวดวงจันทร์ครับ ดูจันทร์จริงหรือจากรูป แล้วพยายามจำว่า เสี้ยวประมาณนี้กี่ค่ำ หรือดูบ่อย ๆ ก็จะจำได้ครับ ใช้วิธีแบ่งเสี้ยวเป็นส่วน ๆ ด้วยสายตาก็ได้ หรือดูแล้วเทียบปฏิทินก็ได้ครับ การดูค่ำแรมแบบนี้ในความเป็นจริงอาจคลาดเคลื่อนจากปฏิทินได้ 1 - 2 ค่ำ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำในปฏิทินอาจห่างจากจันทร์เพ็ญจริงได้ เพราะข้อกำหนดการวางเกณฑ์ปฏิทิน อธิกมาส อธิกวาร
เวลาพระจันทร์ขึ้น-ตก
การหาเวลาพระจันทร์ขึ้นตกแบบเบื้องต้น วิธีนี้ต้องทราบขึ้นแรมค่ำ หรือวันที่สังเกตการณ์ว่าขึ้นแรมกี่ค่ำตามปฏิทิน
ก่อนอื่นต้องท่อง "ข้างขึ้นจันทร์ตก ข้างแรมจันทร์ขึ้น" หมายความว่าเมื่อคำนวณเวลาจากสูตร เวลาที่ได้ ถ้าเป็นข้างขึ้นเวลาที่ได้จะเป็นเวลาดวงจันทร์ตก ทางกลับกัน ถ้าเป็นข้างแรมเวลาที่ได้จะเป็นเวลาพระจันทร์ขึ้น
วิธีคำนวณ นำวันขึ้นแรม คูณด้วย 8 ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นเลข 2 - 3 หลัก , หลักสิบ หลักร้อย(ถ้ามี) แทนด้วยทุ่ม ส่วนหลักหน่วย ในนำมาคูณด้วย 6 จะได้เป็นนาที
ตัวอย่าง
ข้างขึ้น หาเวลาพระจันทร์ตก
ขึ้น ๕ ค่ำ : นำ 5 X 8 = 40 เลข 40 แบ่ง เป็นหลักสิบกับหลักหน่วย หลักสิบคือ 4 หมายถึง 4 ทุ่ม หลักหน่วย 0 X 6 = 0 คือนาที , ดังนั้น ในวันขึ้น ๕ ค่ำ พระจันทร์ตกเวลา 22.00น. (โดยประมาณ)
ขึ้น ๖ ค่ำ : นำ 6 X 8 = 48 เลข 48 แบ่ง เป็นหลักสิบกับหลักหน่วย หลักสิบคือ 4 หมายถึง 4 ทุ่ม หลักหน่วย 8 X 6 = 48 คือนาที , ดังนั้น ในวันขึ้น ๖ ค่ำ พระจันทร์ตกเวลา 22.48น. (โดยประมาณ)
ขึ้น ๑๐ ค่ำ : นำ 10 X 8 = 108 เลข 108 แบ่ง เป็นหลักสิบ/ร้อย กับหลักหน่วย หลักสิบ/ร้อย คือ 10 หมายถึง 10 ทุ่ม หลักหน่วย 0 X 6 = 0 คือนาที , เวลา 10 ทุ่ม นับตามเวลานาฬิกา 6 ทุ่มจะตรงกับเที่ยงคืน นับต่อไป 10 ทุ่ม จะตรงกับตี 4 ดังนั้น ในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ พระจันทร์ตกเวลา 04.00น. (โดยประมาณ)
ขึ้น ๑๕ ค่ำ : นำ 15 X 8 = 120 เลข 120 แบ่ง เป็นหลักสิบ/ร้อย กับหลักหน่วย หลักสิบ/ร้อย คือ 12 หมายถึง 12 ทุ่ม หลักหน่วย 0 X 6 = 0 คือนาที , เวลา 12 ทุ่ม นับตามเวลานาฬิกา 6 ทุ่มจะตรงกับเที่ยงคืน นับต่อไป 10 ทุ่ม จะตรงกับ 6 โมงเช้า ดังนั้น ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พระจันทร์ตกเวลา 06.00น. (โดยประมาณ)
ข้างแรม หาเวลาพระจันทร์ขึ้น
แรม ๕ ค่ำ : นำ 5 X 8 = 40 เลข 40 แบ่ง เป็นหลักสิบกับหลักหน่วย หลักสิบคือ 4 หมายถึง 4 ทุ่ม หลักหน่วย 0 X 6 = 0 คือนาที , ดังนั้น ในวันแรม ๕ ค่ำ พระจันทร์ขึ้นเวลา 22.00น. (โดยประมาณ)
แรม ๖ ค่ำ : นำ 6 X 8 = 48 เลข 48 แบ่ง เป็นหลักสิบกับหลักหน่วย หลักสิบคือ 4 หมายถึง 4 ทุ่ม หลักหน่วย 8 X 6 = 48 คือนาที , ดังนั้น ในวันแรม ๖ ค่ำ พระจันทร์ขึ้นเวลา 22.48น. (โดยประมาณ)
แรม ๑๐ ค่ำ : นำ 10 X 8 = 108 เลข 108 แบ่ง เป็นหลักสิบ/ร้อย กับหลักหน่วย หลักสิบ/ร้อย คือ 10 หมายถึง 10 ทุ่ม หลักหน่วย 0 X 6 = 0 คือนาที , เวลา 10 ทุ่ม นับตามเวลานาฬิกา 6 ทุ่มจะตรงกับเที่ยงคืน นับต่อไป 10 ทุ่ม จะตรงกับตี 4 ดังนั้น ในวันแรม ๑๐ ค่ำ พระจันทร์ขึ้นเวลา 04.00น. (โดยประมาณ)
แรม ๑๕ ค่ำ : นำ 15 X 8 = 120 เลข 120 แบ่ง เป็นหลักสิบ/ร้อย กับหลักหน่วย หลักสิบ/ร้อย คือ 12 หมายถึง 12 ทุ่ม หลักหน่วย 0 X 6 = 0 คือนาที , เวลา 12 ทุ่ม นับตามเวลานาฬิกา 6 ทุ่มจะตรงกับเที่ยงคืน นับต่อไป 10 ทุ่ม จะตรงกับ 6 โมงเช้า ดังนั้น ในวันแรม ๑๕ ค่ำ พระจันทร์ขึ้นเวลา 06.00น. (โดยประมาณ)
หมายเหตุ
วิธีคำนวณนี้เป็นเบื้องต้นใช้ประมาณเวลาอาจไม่ตรงเวลาจริง ๆ มีหลายปัจจัย เช่น
• การปรับเกลี่ยวันค่ำแรมในปฏิทินการวาง อธิกมาส อธิกวารวาร ในแต่ละปีปฏิทิน
• แนวการขึ้นตกดวงจันทร์ที่ขนานกับเส้นศูนย์สูตรฟ้า และอยู่บริเวณเส้นสุริยวิถี ซึ่งแต่ละราศีแต่ละช่วงจะมีปัดเหนือปัดใต้ แบบเดียวกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ก็เช่นกัน
• ระนาบวงโคจรดวงจันทร์กับเส้นสุริยวิถี อาจห่าง ±5° หรือมากกว่าเล็กน้อย
• เวลาดวงจันทร์ขึ้นตกจริงสามารถหาแหล่งข้อมูลดาราศาสตร์ตรวจสอบได้โดยละเอียด ณ สถานที่สังเกตการณ์
https://www.myhora.com/astronomy/sunmoon.aspx
สูตรคำนวณเวลาพระจันทร์ขึ้น-ตกนี้ บรรยายโดย อ.อารี สวัสดี
นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย และ ประธานมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ ในวิชาดาราโหราศาสตร์
ที่มา/อ้างอิง/ผู้เขียน : จักรกฤษณ์ แร่ทอง - มายโหรา.คอม
หมายเหตุ : เนื้อหาข้างต้นเผยแพร่แก่สาธารณะเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา/วิทยาทานเท่านั้น
บันทึก/เผยแพร่ : วันอังคารที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2560
อ่าน ใช้งาน
แล้ว
เขียนรีวิว และคลิก Like , Share ให้ด้วยนะครับ :)
N/A
★ จาก
N/A รีวิว