ปฏิทินโหราศาสตร์ไทย นิรายนะวิธี ชุดนี้ คำนวณสมผุสดาวตัดอายนางศ์ แบบลาหิรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2300-พ.ศ.2584 และเนื่องจากความแตกต่างกันของปฏิทินโหราศาสตร์ไทย แต่ละชุดหรือแต่ละเล่ม ได้ทราบถึงที่มาที่ไป ข้อกำหนด กฎเกณฑ์ต่างๆ และเพื่อให้การใช้งานเกิดประโยชน์สูงสุด จึงสรุปหมายเหตุเป็นข้อๆ ดังนี้
1. ปฏิทินโหราศาสตร์ไทยชุดนี้ คำนวณตำแหน่งดาวตามระบบดาราศาสตร์ นิรายนะวิธี ตัดอายนางศ์ แบบลาหิรี , อายนางศ์ ในระบบนิรายนะ มีหลายแบบเช่น ลาหิรี ฟาเก้น กฤษณามูรติ ฯลฯ โดยอายนางศ์ แบบ ลาหิรี จะนิยมใช้ในระบบปฏิทินโหราศาสตร์ไทย นิรายนะ มากที่สุด , ปฏิทินตั้งจุดคำนวณ ณ เวลา 07:00น. ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย , เวลาจันทร์ยก เวลาฤกษ์ ดิถี เวลาดวงอาทิตย์ขึ้น ดวงจันทร์ฯ จะแสดงเป็น
เวลามาตรฐานประเทศไทย (UTC+07:00) ทั้งหมด ซึ่งใช้ จ.อุบลราชธานี ที่เส้นลองจิจูด 105° ตะวันออก เป็นจุดอ้างอิงเวลา
เนื่องจากเวลามาตรฐานประเทศไทย (UTC+07:00) เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน พ.ศ.2463 ก่อนนี้ ประเทศไทยจะใช้เวลาเวลาท้องถิ่นกรุงเทพฯ (UTC+06:42) เป็นเวลามาตรฐาน ดังนั้นการใช้ปฏิทินฯก่อน 1 เมษายน พ.ศ.2463 ต้องปรับฐานเวลามาตรฐานที่ใช้ในช่วงเวลานั้นๆ คือเวลาท้องถิ่นกรุงเทพฯ (UTC+06:42) โดยนำเวลามาตรฐานฯ (UTC+07:00) ลบออก 18 นาที (เวลา 18 นาที เป็นส่วนต่างเวลา ของ จ.กรุงเทพฯ และ จ.อุบลราชธานี คำนวณตามลองจิจูด)
2. ช่วงเวลาย้ายราศี ย้ายฤกษ์ ย้ายดิถี ของพระเคราะห์ทุกดวง ในปฏิทินโหรฯ ชุดนี้ เป็นผลที่ได้จากการคำนวณ ราศี ฤกษ์ ดิถี ณ เวลาจริงนั้นๆ คำนวณทุกๆนาที ตั้งแต่ 00.00น.-23.59น. ของแต่ละวัน นำผลเปรียบเทียบนาทีต่อนาที เพื่อหาจุดเวลาย้ายจริง , การแสดงเวลาย้ายฤกษ์ ย้ายดิถีสัปตฤกษ์ เพื่อให้เข้าใจง่ายในการใช้งาน ปฏิทินชุดนี้ จะแสดงเป็นเวลามาตรฐาน เช่น ย้ายฤกษ์ 02:00น. หมายถึง เวลา 02:00น. ของวันนั้นๆ ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย
วิธีการอธิบายช่วงเวลาย้ายฤกษ์ ย้ายดิถี (หลัง 1 เมษายน พ.ศ.2463) อาจแตกต่างปฏฺิทินรายวันของสำนักอื่นๆ ซึ่งหากเวลาย้ายฤกษ์ก่อนจุดคำนวณปฏิทิน 07:00น. สำนักอื่นๆจะแสดงเวลาย้ายในปฏิทินวันก่อนหน้า และหมายเหตุในปฏิทินวันรุ่งขึ้น , สอบทานผลคำนวณ เวลาย้ายราศี ย้ายฤกษ์ ย้ายดิถี ในแต่ละวันโดยละเอียดได้ใน "จักรราศีวิภาค ลัคนาฤกษ์" ของปฏิทินรายวันนั้นๆ หรือ
ดูดวง โหราศาสตร์ไทย
3. สมผุสเกตุไทย(๙) ในปฏิทินปฏิทินโหราศาสตร์ไทย นิรายนะวิธี ชุดนี้ เป็นผลคำนวณจากคัมภีร์สุริยยาตร์ ตั้งจุดคำนวณ ณ เวลา 07:00น. เวลามาตรฐานประเทศไทย , เลือกแสดงสมผุสราหูเฉลี่ย(๘) หรือราหูจริง(☊) และ สมผุสเกตุไทย(๙) หรือเกตุสากล(☋) ได้ โดยสมผุสราหูจริง(☊) และเกตุสากล(☋) คำนวณระบบดาราศาสตร์ นิรายนะวิธีปรกติ, สมผุสแบคคัส คำนวณระบบดาราศาสตร์ นิรายนะวิธี ผลสมผุสจะแตกต่างจากแบคคัสในโหราศาสตร์ระบบ อ.พลูหลวง
4. พระเคราะห์โคจรวิปริต พักร์ (พ.) พระเคราะห์โคจรถอยหลัง , มณฑ์ (ม.) พระเคราะห์โคจรช้ากว่าปรกติ เกิดช่วงก่อนและหลังพักร์ และ เสริต (ส.) พระเคราะห์โคจรเร็วกว่าปรกติ , ผลพระเคราะห์โคจรวิปริตในปฏิทินโหรฯ ชุดนี้ การโคจรวิปริตพักร์ พิจารณาองศา ความเร็ว ซึ่งจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับวันก่อนหน้า ส่วน มณฑ์ และ เสริต พิจารณาเปรียบเทียบความเร็วการโคจร กับค่าความเร็วเฉลี่ย , หากใช้การโคจรวิปริตของพระเคราะห์ ให้ดู
กราฟดาว/ดาวย้ายราศี นิรายนะวิธี ลาหิรี พ.ศ.2562 ว่าการโคจรวิปริตรอบนั้นๆ อยู่ช่วงเริ่มต้น หรือใกล้สิ้นสุด เพื่อเลือกใช้ได้เหมาะสม
5. กฎเกณฑ์การคำนวณ จากตำราหรือข้อมูลดังนี้ 1. คำนวนตำแหน่งดวงดาว ตามระบบดาราศาสตร์ ตัดอายนางศ์ แบบ ลาหิรี / 2. คัมภีร์สุริยยาตรแลมานัตต์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้า (คำนวณสมผุสเกตุ/เกตไทย) อ.วรพล ไม้สน / 3. ปฎิทินโหราศาสตร์ไทย (นิรายะนะวิธี) อ.เทพย์ สาริกบุตร ใช้สอบทานตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากการประมวลผล , ปฏิทินโหรฯ ชุดนี้ในบางปีได้วางตากลไว้ 1 - 2 ตำแหน่ง เพื่อตรวจสอบการละเมิดฯ
6. การคำนวณตำแหน่งดาวหรือสมผุสในระบบโหราศาสตร์แบ่งเป็น 2 ระบบหลัก คือ "นิรายนะ" และ "สายนะ" ทั้ง 2 ระบบแตกต่างตรงจุดเริ่มราศีจะไม่ตรงกัน , สันนิษฐานว่าเดิมทีทั้ง 2 ระบบจุดเริ่มราศีเมษตำแหน่งเดียวกัน ใช้ดาวจิตตรา (Spica/รวงข้าว) หรือจุดศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) 180° กำหนดเล็งจุดเมษหรือวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) 0° ต่อมาเวลาผ่านไปแกนโลกที่หมุนเอียงและเหวี่ยง (Precession) ตลอดเวลาทำให้จุดเมษหรือวสันตวิษุวัตเปลี่ยน ดาวเหนือเปลี่ยน มุมมองตำแหน่งดาวจริงเที่ยบกับดาวฤกษ์ท้องฟ้าที่เห็นเปลี่ยนไป แนวคิดระบบนิรายนะใช้ตำแหน่งอ้างอิงดาวแบบเดิม ส่วนระบบสายนะใช้ตามท้องฟ้าหรือจุดเมษที่เปลี่ยนไป ประมาณ 1 องศาทุกๆ 72 ปี (ปีละประมาณ 50 พิลิปดา) ปัจจุบันแม้ดาวดวงเดียวกันตำแหน่งเดียวกัน การอ่าน องศา ราศี ทั้ง 2 ระบบจะต่างกัน โดยจะห่างกันเท่ากับค่า อายนางศ์ (Precession) ซึ่งปัจจุบันอายนางศ์ ประมาณ 23-24° แต่ละวันจะไม่เท่ากัน , ระบบนิรายนะ อาทิตย์จะเปลี่ยนราศีประมาณวันที่ 13 - 17 ของแต่ละเดือน ใช้ในโหราศาสตร์ไทย โหราศาสตร์ภารตะหรือทางอินเดีย ส่วนระบบสายนะ อาทิตย์จะเปลี่ยนราศีประมาณวันที่ 21 - 22 ของแต่ละเดือน ใช้ในโหราศาสตร์สากล (Classical Astrology) โหราศาสตร์ยูเรเนียน (Uranian Astrology)
โหราศาสตร์ระบบ นิรายนะ และ สายนะ มีจุดต่างตามการใช้งานอีกอย่างคือ เรือนชะตาไม่เท่ากัน โหราศาสตร์ไทย นิยมใช้เรือนชะตาจะเท่ากับราศีคือ 30° เส้นแบ่งราศีจะเป็นเส้นแบ่งเรือนชะตาด้วย นับเรือนที่ 1 ที่ราศีที่ลัคนาอยู่ ส่วนโหราศาสตร์สากล โหราศาสตร์ยูเรเนียน ราศีจะเท่ากับ 30° เหมือนกัน ส่วนเรือนชะตาจะ อาจมีค่ามากกว่าหรือน้อยกว่า 30° ขั้นอยู่กับระบบ อาจไม่ตรงกับช่องราศี บางเรือนชะตาอาจมีคร่อมราศี นับเรือนชะตาจากตำแหน่งลัคนา (AC) หรือตามจุดอ้างอิงอื่นๆ ตามแต่ละระบบ
ปฏิทินโหราศาสตร์ไทยที่นิยมใช้กัน มี 2 แบบ คือ ➊
ปฏิทินโหราศาสตร์ไทย สุริยยาตร์ เป็นปฏิทินโหราศาสตร์ไทยแบบดั้งเดิม คำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์และคัมภีร์มานัตต์ ➋
ปฏิทินโหราศาสตร์ไทย นิรายนะวิธี ลาหิรี เป็นปฏิทินโหราศาสตร์ คำนวณตามระบบดาราศาสตร์สากล นิรายนะวิธี ตัดอายนางศ์ แบบลาหิรี , ทั้งนี้ชื่อเรียก วิธีคำนวณ ต่างกัน แต่โดยหลักการแล้วปฏิทินโหราศาสตร์ไทยสุริยยาตร์ จัดเป็นระบบนิรายนะ(Fixed Zodiac) แบบเดียวกัน หากดูตามชื่อที่นิยมใช้เรียกอาจเข้าใจว่าเป็นคนละแบบ