กระดานปักขคณนา

กระดานปักขคณนา
เดือนจันทรคติ
ตำแหน่งหมุด
วันพระ ค่ำแรม วันลงอุโบสถ ในปฏิทินปักขคณนาชุดนี้ บางปี อาจไม่ตรง กับปฏิทินปักขคณนาที่พิมพ์เผยแพร่ ประกาศ หรือใช้งานจริงปัจจุบัน ซึ่งอาจมีการสลับปรับเปลี่ยนปักข์ในบางเดือนเพื่อให้วันพระสำคัญ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา ตรงกับปฏิทินหลวง/ปฏิทินราชการ
อ่าน ใช้งาน ปฏิทินกระดาน ปักขคณนา แล้ว เขียนรีวิว และคลิก Like , Share ให้ด้วยนะครับ :)   4.99 จาก 2,049 รีวิว
หมายเหตุ ปฏิทินปักขคณนา พ.ศ.2567 / จ.ศ.1386
ปักขคณนา เป็นปฏิทินที่ใช้ในคณะสงฆ์ ธรรมยุติกนิกาย เพื่อกำหนดวันทำศาสนกิจ ระบบปฏิทินจันทรคติแบบปักขคณนานี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงมีพระอัจฉริยภาพสูงยิ่งทั้งด้าน ดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์ พระองค์ได้ศึกษาคัมภีร์สารัมภ์ ซึ่งเป็นคัมภีร์เกี่ยวกับการคำนวณตำแหน่งดวงอาทิตย์ดวงจันทร์และการเกิดคราส พระองค์ได้คิดค้นพัฒนาปฏิทินหรือกระดานปักขคณนา ระหว่างทรงผนวชก่อนขึ้นครองราชสมบัติ ช่วงปี พ.ศ.2397-2394 เหตุเนื่องจากปัญหาปฏิทินจันทรคติในยุคสมัยนั้น การกำหนดวันพระ วันสำคัญ ไม่สอดคล้องกับปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ หรือการสังเกตการณ์ดวงจันทร์จริง ปฏิทินจันทรคติซึ่งใช้เกณฑ์คัมภีร์สุริยยาตร์แต่โบราณก็ไม่มีกฎ การวางอธิกมาส อธิกวาร แน่นอนตายตัว รวมถึงผู้คำนวณปฏิทินไม่เอาใจใส่ตรวจสอบปรากฎการณ์จริง วันปฏิบัติศาสนกิจไม่สอดคล้องกับดวงจันทร์เพ็ญจริง ดับจริง ตามพุทธประสงค์

ในช่วงแรกปฏิทินปักขคณนายังใช้ไม่แพร่หลายเพราะยังเป็นเรื่องใหม่ จนกระทั้ง พ.ศ.2411 ได้มีพระบรมราชาธิบายตำราปักขคณนาฉบับสมบูรณ์ รวบรวมข้อมูล อธิบายแนวคิดที่มาที่ไป รวมถึงหลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์โดยละเอียด วิธีการคำนวณหาวันขึ้นแรมให้แม่นยำตรงตามการโคจรของดวงจันทร์เป็นสำคัญ

ปักขคณนา เป็นคำที่เกิดคำว่า ปักขะ ซึ่งเป็นภาษาบาลี ที่แปลว่า ปักข์ หรือ รอบครึ่งเดือน ในอีกความหมายหนึ่งคือ ครึ่ง ข้าง ฝ่าย โดยนัยว่ามีสองส่วน เหมือนปีกนกข้างใดข้างหนึ่ง (ปักษา,ปักษ์) ซึ่งก็คือ ข้างขึ้นและข้างแรม มารวมกับคำว่า คณนา ซึ่งแปลว่า การนับ การคำนวณ ดังนั้น ปักขคณนา จึงแปลว่า การนับ การคำนวณดิถีจันทร์ตามปักข์ , หมายเหตุปฏิทินปักขคณนา การใช้งานเบื้องต้น รูปแบบ กฎเกณฑ์ และข้อกำหนดต่าง ๆ ของปฏิทินปักขคณนา ของปฏิทินที่ควรทราบ สรุปเป็นข้อ ๆ ดังนี้

[1] ปฏิทินปักขคณนาชุดนี้ คำนวณแบบกระดานปักขคณนา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตามพระราชนิพนธ์เรื่อง "วิธีปักขคณนา" จากหนังสือ "ความรู้เรื่อง ปักขคณนา ตำราการคำนวณปฏิทินทางจันทรคติ" มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

เดือนในปฏิทินปักขคณนา จะมี 2 ปักข์คือ ปักข์ขาด (14 วัน) กับ ปักข์ถ้วน (15 วัน) ในแต่ละเดือนอาจเป็น ปักข์ถ้วน-ปักข์ถ้วน (30 วัน) หรือ ปักข์ถ้วน-ปักข์ขาด (29 วัน) ก็เป็นได้ขึ้นอยู่กับการนับรอบปักข์นั้น , ปฏิทินปักขคณนาไม่มีกฎเรื่องเดือนคี่มี 29 วัน หรือ เดือนคู่มี 30 วัน แบบปฏิทินจันทรคติไทย ดังนั้นเดือนคี่อาจมี 30 วันได้ถ้าเป็นปักข์ถ้วนทั้ง 2 ครั้งติดต่อกัน , ปฏิทินปักขคณนาไม่มีการใช้ อธิกวาร เพราะใช้ปักข์กำหนดจำนวนวัน

เป็นเดือนปฏิทินปักขคณนาที่วาง อธิกมาส ตามพระราชาธิบายเรื่องอธิกมาส ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยทุก ๆ 19 ปี จะมีเดือน อธิกมาส 7 ครั้ง วางอธิกมาสทุก ๆ 33 , 33 , 32 , 33 , 32 , 33 และ 32 เดือนตามลำดับ จะวางหลังเดือน ๘ เรียกเดือนแปดสองหน หรือ เดือนแปดหลัง (๘๘) จำนวนวันในเดือนที่เพิ่มเข้ามา อาจไม่เท่ากับ 30 วัน หรือจำนวนวันในเดือนอธิกมาสตามปฏิทินจันทรคติไทย อาจเพิ่ม 29 วันก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับรอบปักข์นั้น ๆ ว่า ปักข์ถ้วน หรือ ปักข์ขาด

เดือนจันทรคติ ในปฏิทินข้างต้น สามารถตั้งค่าการแสดงผลเดือนได้ 3 แบบ (1). เดือนปฏิทินจันทรคติไทย (2). ปักขคณนา ในรอบ ๑๙ ปี ตามพระบรมราชาธิบาย จะเริ่ม เดือนที่แรม ๑ ค่ำ (3). ปักขคณนา ปรับข้างขึ้น 1 ค่ำ เริ่มต้นเดือน แบบปฏิทินจันทรคติไทย , ในกระดานปักขคณนา เพื่อให้ดูง่าย สามารถเลือกตั้งค่าแสดงผลหมุดได้ ว่าเป็นอักษรขอม อักษรไทย หรือสัญลักษณ์ได้

[2] ปีศักราช , จุลศักราช (จ.ศ.) ปฏิทินชุดนี้เปลี่ยนปีจุลศักราชในวันเถลิงศก คำนวณตามคัมภีร์สุริยาตร์โดยในปี พ.ศ.2567/จ.ศ.1386 วันเถลิงศกตรงกับ วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ.2567 เวลา 02:15:00น. วันเดียวกันอาจคาบเกี่ยวจุลศักราชได้ เพราะมีช่วงเวลามาเกี่ยวข้อง , วันกาลโยคเริ่มใช้หลังจากวันเถลิงศกนี้เช่นกัน ดู ประกาศสงกรานต์ พ.ศ.2567

รัตนโกสินทรศก (ร.ศ.) เริ่มใช้จริงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2432 (ปีเดียวกันที่เริ่มใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) และยกเลิกใช้งานเมื่อ พ.ศ.2455 , ปฏิทินชุดนี้แสดงปีรัตนโกสินทรศก 1 ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2325 ช่วงเวลาก่อน เมษายน พ.ศ.2325 แสดงรัตนโกสินทรศก 0 ทั้งหมด ทั้งนี้แม้ยกเลิกการใช้งานไปแล้ว ปีปัจจุบันยังแสดงปีรัตนโกสินทรศก , มหาศักราช (ม.ศ.) ปฏิทินชุดนี้เปลี่ยนปีมหาศักราชในวันที่ 22 มีนาคมของทุกปี หรือ 23 มีนาคมในปีอธิกสุรทิน

[3] วันสำคัญทางพุทธศาสนา ได้กำหนดตามเงื่อนไขปฏิทินปักขคณนา อาจตรงกับ ขึ้นแรม ๗ - ๘ ค่ำ , ขึ้นแรม ๑๔ - ๑๕ ค่ำ ก็ได้อยู่ที่เดือนนั้น ๆ เป็น ปักข์ขาด/ปักข์ถ้วน

วันสำคัญทางพุทธศาสนา ในปฏิทินปักขคณนาชุดนี้ ในแต่ละปีบางช่วงเวลาในทางคำนวณค่ำแรม อาจไม่ตรง กับปฏิทินปักขคณนาที่พิมพ์เผยแพร่ ประกาศ หรือใช้งานจริงปัจจุบัน ซึ่งอาจมีการสลับปรับเปลี่ยนปักข์ในบางเดือนเพื่อให้วันพระสำคัญ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา ตรงกับปฏิทินหลวง/ปฏิทินราชการ

[4] รายละเอียดอื่น ๆ การนับวัน วันสำคัญ ปีนักษัตร ดูหมายเหตุปฏิทินจันทรคติไทยปีนั้น ๆ ดู ปฏิทิน พ.ศ.2567